สำคัญ! ลูกค้าที่จองซื้อหุ้นกู้ TRUE
กรุณากดรับทราบและเข้าใจความเสี่ยงการลงทุน
หุ้นกู้ “ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)”
ความเสี่ยงของบริษัทและหุ้นกู้ที่ควรทราบ
ก่อนตัดสินใจลงทุน
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) เป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจากการควบบริษัท ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“ทรู (ก่อนการควบบริษัท)”) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (“ดีแทค”) ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) (“พ.ร.บ. บริษัทมหาชน”) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 (“การควบบริษัท”) ซึ่งเป็นวันที่จดทะเบียนการควบบริษัทแล้วเสร็จ โดยบริษัทฯ ได้รับมาซึ่ง ทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบทั้งหมดของทรูและดีแทคโดยผลของกฎหมาย
ความเสี่ยงด้านข้อพิพาท: บริษัทฯ มีข้อพิพาทหลายคดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องและคดียังไม่สิ้นสุด โดยเมื่อนำมูลค่าความเสียหายจากคดีความที่สำคัญตามที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้อง ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2566 เทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 คิดเป็นประมาณร้อยละ 140 ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งผลที่สุดของข้อพิพาททางกฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ไม่ได้ตั้งสำรองทางบัญชีสำหรับรายการค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากรายการนี้ไว้ในงบการเงิน ดังนั้น จากข้อพิพาทต่างๆ หากผลที่สุดไม่เป็นคุณกับบริษัทฯ อาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน สภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญได้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีความคืบหน้าในการพิจารณาคดี ตามที่บริษัทฯ ได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้
-
ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคําฟ้องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้อง กสทช. เพื่อขอเพิกถอนมติ กสทช. ที่รับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค ศาลปกครองกลางยังจะต้องพิจารณาประเด็นของคดีดังกล่าวต่อไปว่ามติรับทราบการควบรวมธุรกิจของกสทช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ
-
คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคําชี้ขาดให้บริษัทฯ ชําระผลประโยชน์ตอบแทนส่วนเพิ่มจากรายได้ค่า IC (ส่วนต่างของผลประโยชน์ตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม หรือ Net IC) พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับ เป็นจํานวนเงิน 7,066.96 ล้านบาท และเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินจำนวน 4,136.87 ล้านบาท (Net IC ไม่รวมเบี้ยปรับและภาษีมูลค่าเพิ่ม) นับถัดจากวันยื่นคำเสนอข้อพิพาท (22 ตุลาคม 2562) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) (“เอ็นที”) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นพ้องกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และบริษัทฯ จะยื่นคำร้องขอเพิกถอนคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลางต่อไป
ความเสี่ยงจากการไม่มีข้อกำหนดด้านการเงิน (Financial Covenants): ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ไม่ได้มีข้อกำหนดด้านการเงิน (Financial Covenants) ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีโอกาสก่อภาระหนี้ใหม่ได้โดยไม่จำกัดจนมีระดับสูงเกินความสามารถในการชำระหนี้ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อกลุ่มบริษัทฯ และผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเงินกู้ยืม ณ 30 กันยายน 2566 จำนวน 364.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจำนวน 353.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 (ตามข้อมูลทางการเงินรวมเสมือน) จากการกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องรวมถึงสำหรับการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎเกณฑ์ การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ: ซึ่งอาจทำให้การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายการกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (“ กสทช.”) นั้นมีผลต่อโครงสร้างและการแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมโดยตรง ซึ่งอาจส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนการประกอบกิจการและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ กสทช. อีกด้วย
ความเสี่ยงจากการชําระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่: กลุ่มบริษัทฯ มีหน้าที่ในการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรจากกสทช. และการลงทุนในการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจํานวนมาก ทำให้บริษัทฯ มีภาระทางการเงินที่สูง
ภาระหนี้สินหลักของกลุ่มฯ เป็นตราสารหนี้ ประมาณ 65% ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย รวมหนี้สินภายใต้สัญญาเช่า ดังนั้นความสามารถในการชำระหนี้ตราสารหนี้ขึ้นกับศักยภาพในการ Refinance เป็นหลัก และขึ้นอยู่กับศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และสถานะการเงินชองบริษัทฯ
วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อชำระคืนหนี้จากการออกหุ้นกู้ และ/หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ความสัมพันธ์ระหว่าง TRUE กับ KGroup
ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย เป็นเจ้าหนี้ ไม่มีหลักประกันของ TRUE โดยระยะเวลาวงเงินอาจสั้นหรือยาวกว่าอายุของหุ้นกู้ในครั้งนี้ ซึ่งการให้สินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย กับ TRUE ในปัจจุบัน ไม่ผูกพันและไม่อาจเป็นการถือว่าธนาคารกสิกรไทยจะให้หรือไม่ให้สินเชื่อในอนาคต รวมถึงธนาคารกสิกรไทยมีสิทธิในการใช้สิทธิต่างๆ ตามสัญญาสินเชื่อ ซึ่งอาจเป็นคุณหรือไม่เป็นคุณกับผู้ลงทุนได้ นอกจากนี้ TRUE และ KBank มีกรรมการร่วมกัน 1 ท่าน คือ นาย กลินท์ สารสิน
สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“KS”) ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (สำหรับการจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรรหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ลงทุนสถาบัน) มีการถือหุ้นของ TRUE จำนวน 0.01073% ของจำนวนหุ้นชำระแล้ว เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี TRUE และ KS ไม่มีกรรมการร่วมกัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566)
ข้าพเจ้ารับทราบและเข้าใจความเสี่ยงตามที่ปรากฎใน Factsheet (แบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้) หนังสือชี้ชวน และความเสี่ยงข้างต้นแล้ว และขอยืนยันว่าข้าพเจ้าได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของ “หุ้นกู้ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ครั้งที่ 1/2567” และพร้อมรับความเสี่ยงในการลงทุน รวมถึงดูแลความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นกู้ได้ด้วยตนเอง