Highlights
  • SSF และ RMF เป็นทางเลือกการออมเงินแบบสมัครใจที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจในการออม โดย SSF เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ส่งเสริมให้ลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วน RMF เป็นกองทุนรวมที่ส่งเสริมการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ
  • ประโยชน์ของ SSF และ RMF คือ สามารถนำเงินลงทุนไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แถมกำไรที่ได้จากการลงทุนยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
  • นักลงทุนควรทำความเข้าใจเงื่อนไขในการซื้อหรือขาย SSF และ RMF ให้ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่า
อยากลงทุนต่อยอดเงินออม และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย มีทางเลือกไหนบ้าง?

เป็นที่ทราบกันดีว่า… ผู้ที่มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีทุกคนจะได้รับสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ซึ่งนอกจากค่าลดหย่อนพื้นฐานทั่วไป เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว บุตร คู่สมรส เป็นต้น ภาครัฐยังเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุนระยะยาว โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีเงินได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนต่าง ๆ มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น และในปี 2563 ได้มีการเปลี่ยนเกณฑ์การซื้อกองทุน RMF รวมถึงมีทางเลือกลงทุนใหม่ คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF)

ถ้าอย่างนั้น… เราลองมาทำความคุ้นเคยกับ 3 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ SSF & RMF แฝดคู่สวยช่วยประหยัดภาษี” กันดีกว่า จะได้เริ่มวางแผนลดหย่อนภาษีแบบเต็มที่นับตั้งแต่นี้ไป

1. SSF & RMF คืออะไร?
เป็นทางเลือกให้คนไทยได้ออมเงินแบบสมัครใจ และภาครัฐส่งเสริมด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดย SSF (Super Savings Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม ส่งเสริมให้ลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่ส่งเสริมการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ทั้งสองกองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หน่วยลงทุนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนดัชนี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือจะเป็นทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็ได้ ทำให้มีความยืดหยุ่น เพราะสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนได้หลากหลายประเภทตามระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้

2. ทำไมต้องลงทุนใน SSF & RMF?
เพราะเป็นทางเลือกการลงทุนเพิ่มค่าเงินออมที่น่าสนใจ หากคุณมีเป้าหมายการออมการลงทุนระยะยาว ที่สอดคล้องกับระยะเวลาและเงื่อนไขทางภาษีของกองทุน SSF และ RMF อยู่แล้ว เช่น เงินทุนการศึกษาของบุตรในระดับปริญญาตรี เงินออมเพื่อเกษียณ หรือเงินออมเพื่อทำธุรกิจเล็ก ๆ เป็นต้น อีกทั้งยังได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ คือ

  • ต่อที่ 1  สามารถนำเงินลงทุนไปใช้ลดหย่อนภาษี เมื่อเงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษีลดลง ก็จะช่วยให้ภาษีที่ต้องชำระลดลง และเงินที่คุณได้จากการประหยัดภาษีนี้ ก็สามารถนำไปซื้อทรัพย์สินหรือออมและลงทุนต่อได้
  • ต่อที่ 2 กำไรที่ได้รับจากการลงทุนไม่ต้องเสียภาษี ถ้าคุณซื้อและขายถูกต้องตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดไว้

3. เงื่อนไขซื้อขาย SSF & RMF เป็นอย่างไร?
คุณควรทำความเข้าใจเงื่อนไขในการซื้อหรือขาย SSF และ RMF ให้ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนภาษีให้ถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด

* เมื่อรวมเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขได้ที่ กรมสรรพากร

ก่อนจะตัดสินใจซื้อ SSF และ RMF อย่าลืม… พิจารณาเป้าหมายของการลงทุนของคุณเป็นหลัก เพราะมีเงื่อนไขการซื้อที่ผูกพันระยะยาว ถ้าเน้นการลงทุนต่อเนื่องเพื่อการเกษียณ แนะนำให้เลือก RMF ไปเลย แต่หากมีเป้าหมายต้องการออมเงินระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป อยากได้เงินปันผลกลับมาบ้าง หรือไม่อยากลงทุนต่อเนื่องทุกปี ก็อาจจะเลือกลงทุนใน SSF  เป็นต้น

เห็นหรือยังว่า… ผู้ที่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ก็สามารถวางแผนการเงินไปพร้อมๆ กับการวางแผนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ แบบนี้เค้าเรียกว่า… ตอบโจทย์ทั้งความคุ้มค่าและเป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตไปพร้อม ๆ กัน

ที่มา เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย