โปรโมชันทรูมันนี่
โปรโมชันทรูมันนี่

Security Updates

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือใคร

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ ขบวนการหรือกลุ่มมิจฉาชีพที่ทำการหลอกลวงเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์ โดยมักแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เช่น ธนาคาร บริษัทขนส่ง หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งองค์กรการกุศล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวงหรือข่มขู่ให้เหยื่อเกิดความกลัวและกังวล จนตัดสินใจผิดพลาดโอนเงินไปให้กับผู้ร้าย จนบางรายแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

กลุ่มเป้าหมายของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายก่อนจะทำการโทร ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังต่อไปนี้

  1. คนตกงาน มองหางาน อยากมีฐานะทางการเงินที่ดี
  2. คนมีฐานะ มีเงินเก็บ อยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยติดตามข่าวสาร โดยเหยื่อไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการปรับกลวิธี กลยุทธ์ ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้ทุกคนสามารถถูกหลอกได้ทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักหลอกผู้เสียหาย ดังนี้

  • อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร: มิจฉาชีพมักอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารและตรวจสอบพบความปกติบนบัญชีของคุณ เช่น บัญชีเงินฝากคุณถูกอายัด มีหนี้บัตรเครดิตค้างชำระให้รีบไปที่ตู้ ATM ทำตามขั้นตอนที่บอกจะแก้ปัญหาได้แต่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกลวงเพื่อโอนเงินไปยังบัญชีของโจร หรือแจ้งว่าข้อมูลของคุณหายไปจากธนาคาร รบกวนขอข้อมูลส่วนตัวอีกครั้ง เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณไปใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน
  • อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ขนส่งและโอนสายให้ตำรวจ: เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนนิยมใช้การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์จึงมีการใช้บริการขนส่งเป็นจำนวนมาก มิจฉาชีพจึงอาศัยช่องโหว่ตรงนี้ในการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ขนส่ง แล้วหลอกว่ามีพัสดุตกค้าง หรือตรวจพบพัสดุที่มีของผิดกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินที่อยู่ภายใต้ชื่อของคุณ และจะทำการโอนสายไปให้กับตำรวจเพื่อหลอกให้คุณโอนเงินเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์
  • อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ: มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหลอกลวงว่าคุณเป็นผู้ต้องสงสัยว่าพัวพันกับคดีค้ายาหรือฟอกเงิน จึงต้องโอนเงินทั้งหมดมาให้เราตรวจสอบ
  • อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร: มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร และหลอกลวงให้คุณเชื่อว่าคุณได้รับสิทธิ์ขอคืนภาษี ให้รีบไปทำรายการขอรับคืนที่ตู้เอทีเอ็ม แต่เมื่อทำตามขั้นตอนกลับกลายเป็นการโอนเงินให้กับโจร
  • อ้างว่าเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ: มิจฉาชีพอาศัยการหลอกลวงว่าเป็นเจ้าหนี้นอกระบบของบุคคลในครอบครัวหรือคนรอบตัว และข่มขู่ต่อไปว่าหากไม่อยากให้คนในครอบครัวหรือคนที่รู้จักโดนทำร้ายจะต้องโอนเงินให้เพื่อชำระหนี้นั้นแทน
  • อ้างว่าเป็นผู้โชคดีหรือได้รับรางวัล: มิจฉาชีพอาจหลอกลวงว่าคุณคือ ผู้โชคดีที่ได้รับเงินรางวัลจำนวนมาก แต่ก่อนที่จะรับรางวัลได้ต้องโอนจ่ายภาษีให้กับพวกเขาก่อน แต่สุดท้ายเมื่อโอนเงินไปแล้วกลับไม่ได้ทั้งเงินรางวัลและโดนเชิดเงินที่โอนไปหนีหายไปด้วย
  • อ้างว่ามีรูปหรือคลิปวิดีโอหลุด: มิจฉาชีพแอบอ้างว่ามีรูปหรือคลิปวิดีโอที่อาจทำให้คุณต้องอับอาย หรือคลิปการกระทำของคุณที่ผิดกฎหมาย ให้คุณคลิกลิงก์เข้าไป หากหลงเชื่อกดดูอาจโดนแฮ็กข้อมูลและเงินในบัญชี
  • อ้างว่าเป็นนักลงทุนเพื่อหลอกให้ลงทุน: มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินไปร่วมลงทุน หลังจากนั้นหลอกต่อไปอีกว่าได้กำไรมหาศาลให้โอนค่าธรรมเนียมมาจะได้เบิกเงินไปใช้ได้
  • อ้างว่าโอนเงินผิดบัญชี: มิจฉาชีพโทรมาและอ้างว่า “เมื่อกี้โอนเงินไปผิดบัญชี รบกวนโอนคืนมาให้หน่อย” ซึ่งอาจเกิดจากเหยื่อถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวเอาไปขอสินเชื่อ เมื่อเงินเข้าบัญชีโจรจึงโทรมาหลอกให้เราโอนเงินให้ หรือเราอาจถูกหลอกให้เป็นเหยื่อการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายโดยใช้บัญชีของเราเป็นตัวกลาง ดังนั้นหากมีใครโอนเงินมาผิดบัญชีไม่ควรโอนกลับไปให้แต่ให้อีกฝ่ายการติดต่อธนาคารเพื่อดึงเงินกลับไปด้วยตนเอง
  • อ้างว่าจะถูกตัดไฟฟ้าและประปา: มิจฉาชีพอาจโทรมาแอบอ้างในลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าหรือการประปา มาแอบอ้างเก็บค่าไฟ เก็บค่าน้ำ แจ้งตัดไฟฟ้า แจ้งตัดน้ำประปา เปลี่ยนมิเตอร์ และตรวจซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า และเหยื่อจะรีบโอนเงินให้โดยทันทีเพราะไม่อยากถูกตัดน้ำ ตัดไฟ หรือเสียค่าปรับ
  • อ้างว่าเป็นพนักงานจากเครือข่ายโทรศัพท์: มิจฉาชีพใช้เบอร์มือถือ 0XX-XXXXXXX โทรหาลูกค้าแจ้งว่า มีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า อาทิ ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน ไปเปิดเบอร์และดำเนินการผิดกฎหมาย โดยมิจฉาชีพบางรายบอกชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชนของเหยื่อได้อย่างถูกต้อง จนอาจทำให้เหยื่อหลงเชื่อ จากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกว่า ต้องโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลของลูกค้า เป็นต้น ซึ่งถือเป็นจุดที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและสูญเสียทรัพย์สิน
    หากคุณเป็นลูกค้าของ AIS และพบความผิดปกติของเบอร์โทร หรือ SMS ข้อความ ที่ติดต่อเข้ามา สามารถแจ้งผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง โดย AIS จะตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
  • หลอกให้ทำงานออนไลน์: มิจฉาชีพจะโทรเข้ามาเพื่อนำเสนองานง่าย ๆ แต่รายได้ดีมาก ทำให้ดูน่าสนใจ แต่จะมีเงื่อนไขในการสมัคร คือ จะต้องโอนเงินเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้าทำงาน หรือค่าอื่น ๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อโอนเงินแล้วจะถูกบล็อกช่องทางการติดต่อและพบว่างานนั้นไม่มีอยู่จริง

ป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ง่ายๆด้วยตัวเรา

  1. ตั้งสติ ไม่หลงเชื่อ
    • มิจฉาชีพมักจะสร้างสถานการณ์ให้ตื่นตระหนก เร่งเร้า หรือข่มขู่ให้เหยื่อรีบโอนเงิน ให้ตั้งสติ พิจารณาไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ
    • ตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าในช่วงที่ผ่านมา มีการซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมหรือไม่
    • กรณีข้อมูลรั่วไหล เช่น รหัสผ่าน ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที
  2. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลที่ไม่รู้จัก
    • มิจฉาชีพมักจะขอข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร รหัสหลังบัตร รหัส OTP
    • ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลที่ไม่รู้จักเด็ดขาด
  3. แจ้งเบาะแส
    • แจ้งเบาะแสแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจไซเบอร์ ธนาคาร หรือบริษัทประกันภัย
  4. ดูแลผู้สูงอายุ
    • ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มิจฉาชีพมักจะโจมตี
    • อธิบายวิธีป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ผู้สูงอายุเข้าใจ
    • ดูแลไม่ให้ผู้สูงอายุเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลที่ไม่รู้จัก
  5. ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whos Call
    • แอปพลิเคชัน Whos Call ช่วยระบุหมายเลขโทรศัพท์ และแจ้งเตือนหมายเลขโทรศัพท์ที่น่าสงสัย
  6. บล็อกหมายเลขโทรศัพท์
    • บล็อกหมายเลขโทรศัพท์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้โทรมาอีก
  7. ระมัดระวังการกดลิงก์
    • มิจฉาชีพมักจะส่ง SMS หรืออีเมล หลอกให้เหยื่อกดลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอม
    • ไม่กดลิงก์ที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
  8. ปรึกษาเจ้าหน้าที่
    • หากสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ทรูมันนี่ ห่วงใยและสนับสนุนการต่อต้านการกระทำผิด